ชาวอาร์เมเนียหลายพันคน อพยพออกจากนากอร์โน-คาราบัค : PPTVHD36
สถานการณ์ในนากอร์โน-คาราบัคยังไม่มั่นคง ประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียทยอยอพยพ และเดินทางเข้าสู่พรมแดนอาร์เมเนีย
เป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้วหลังจากอาเซอร์ไบจานเปิดปฏิบัติการบุกโจมตี “นากอร์โน-คาราบัค” ก่อนจะยุติลงด้วยข้อตกลงหยุดยิง โดยมีกองกำลังรักษาสันติภาพรัสเซียเป็นคนกลางในการเจรจา อย่างไรก็ดีหลังอาเซอร์ไบจานประกาศชัยชนะเหนือดินแดนนากอร์โน-คาราบัคเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ในนากอร์โน-คาราบัคยังไม่มั่นคง ประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้หลายพันรายพยายามหาทางอพยพออกจากพื้นที่ ล่าสุดชาวอาร์เมเนียทยอยอพยพออกจากนากอร์โน-คาราบัคและเดินทางเข้าสู่พรมแดนอาร์เมเนียได้แล้ว
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนอาร์เมเนียยอมวางอาวุธ ตามเงื่อนไขหยุดยิงของอาเซอร์ไบจาน
“นากอร์โน-คาราบัค” เผชิญวิกฤตมนุษยธรรม หลังอาเซอร์ไบจานปิด
เมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) รถยนต์หลายสิบคันได้มุ่งหน้าออกจากเมืองสเตพานาแกร์ต เมืองหลักในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค เข้าสู่ชายแดนอาร์เมเนียที่บริเวณหมู่บ้านคอร์นิดซอร์ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ติดชายแดนระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน
ส่วนที่เมืองกอริส เมืองทางตอนใต้ของอาร์เมเนีย ซึ่งมีระยะห่างจากนากอร์โน-คาราบัคไปเพียงราว 40 กิโลเมตร ก็มีรถตู้มาจอดเพื่อส่งผู้อพยพชาวอาร์เมเนียหลายร้อยคนที่ลี้ภัยออกมาจากนากอร์โน-คาราบัค
ขณะที่ในนากอร์โน-คาราบัคยังมีประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียอีกหลายพันรายที่ปักหลัก อยู่รอบๆ สนามบินและฐานทัพอากาศสเตพานาแกร์ตเพื่อรอความช่วยเหลืออพยพออกจากพื้นที่ กำลังตกอยู่ในสภาวะที่มีอาหารและน้ำไม่เพียงพอ แม้ว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา รถของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศหรือไอซีอาร์ซีจะสามารถเข้าไปส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมระลอกแรก ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเวชภัณฑ์ได้แล้ว
ประชาชนชาวคาราบัคเชื้อสายอาร์เมเนียที่เพิ่งเดินทางออกมาจากนากอร์โน-คาราบัคเล่าว่า ที่นั่นตกอยู่ในสภาพที่น่าหวาดกลัว เพราะการโจมตีเกิดขึ้นไปทั่วในหลายพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียที่สามารถเดินทางออกมาจากนากอร์โน-คาราบัคได้ ล่าสุดทางการอาร์เมเนียระบุว่าจนถึงเวลา 22.00 น. ของวันอาทิตย์ มีประชาชนชาวนากอร์โน-คาราบัคเชื้อสายอาร์เมเนียอพยพเข้าสู่พรมแดนอาร์เมเนียมากกว่า 1,000 คนแล้ว
การอพยพครั้งนี้เป็นผลจากความขัดแย้งครั้งล่าสุดระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน บนดินแดนนากอร์โน-คาราบัคเหตุการณ์เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อกองทัพอาเซอร์ไบจานเปิดปฏิบัติการทางการทหารเข้าโจมตีพื้นที่แห่งนี้
นากอร์โน-คาราบัค เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอาเซอร์ไบจาน มีประชากรประมาณ 150,000 คน ราว 120,000 คนมีเชื้อสายอาร์มาเนียที่นี่กลายเป็นชนวนเหตุของการกระทบกระทั่งกันระหว่างอาร์เซอร์ไบจานและอาร์เมเนียหลายครั้งในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ที่ใหญ่ที่สุดจนขยายกลายเป็นสงครามเกิดขึ้นในปี 2020 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้วในครั้งนั้น สงครามที่ดำเนินไปเป็นเวลา 44 วัน จบลงด้วยชัยชนะของอาเซอร์ไบจาน หลังจากนั้นอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานก็ได้ทำข้อตกลงหยุดยิงโดยมีรัสเซียเป็นคนกลาง
หนึ่งในประเด็นสำคัญของข้อตกลงคือ การให้หลักประกันความมั่นคงบริเวณ “ระเบียงลาชิน” หรือ Lachin corridor ซึ่งเป็นเส้นทางทางบกเดียวที่เชื่อมต่อจากอาร์เมเนียเข้าไปสู่รัฐนากอร์โน-คาราบัค เพื่อให้รับประกันว่า ชาวอาร์เมเนียที่อาศัยอยู่ที่นั่นจะไม่ถูกล้อมหรือตัดขาดจากโลกภายนอก โดยในข้อตกลงมีการให้ทหารรัสเซียเป็นผู้รักษาสันติภาพรับผิดชอบบริเวณเส้นทางนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวถูกละเมิด
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กองกำลังอาเซอร์ไบจานได้ทำการปิดล้อมระเบียงลาซิน ส่งผลให้การเดินทางเข้าออก นากอร์โน-คาราบัค เป็นไปด้วยความยากลำบาก ประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียที่อยู่ที่นั่นเผชิญกับสภาวะขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค เชื้อเพลิง รวมถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงต้องใช้ชีวิตประจำวันอย่างยากลำบาก
ความตึงเครียดระหว่าง 2 ชาติมาถึงขีดสูงสุดเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เมื่อกองทัพอาเซอร์ไบจานเปิดปฏิบัติการโจมตีรัฐนอร์กาโน-คารบัค โดยให้เหตุผลว่า เพื่อปราบปรามกลุ่มติดอาวุธชาวอาร์เมเนียที่กบดานอยู่ที่นั่น
หลังการโจมตีผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง ฝ่ายกองกำลังในนากอร์โน-คาราบัคและอาเซอร์ไบจานก็สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิง โดยที่มีกองกำลังรักษาสันติภาพรัสเซียเป็นคนกลางในการเจรจา การยุติปฏิบัติการโจมตีอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าฝ่ายกองกำลังในนากอร์โน-คาราบัคจะต้องยอมปลดอาวุธและสลายกำลังลง ส่วนกองทัพอาร์เมเนียจะต้องยอมถอนกำลังออกจากนากอร์โน-คาราบัค การประกาศชัยชนะและเข้าควบคุมพื้นที่ในนากอร์โน-คาราบัคของอาเซอร์ไบจานจึงนำไปสู่การอพยพออกจากดินแดน
แม้ว่าทางการอาเซอร์ไบจานจะออกมากล่าวว่าจะรับประกันสิทธิของประชาชนที่อาศัยในนากอร์โน-คาราบัคหลังเข้าควบคุมพื้นที่ แต่ นิโคล ปาชินเนียน นายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียออกมาระบุว่า การอพยพของชาวอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัคจะยังคงดำเนินต่อไป หากประชาชนที่นั่นยังเสี่ยงที่จะเผชิญการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ขณะที่เดวิด บาบายัน ที่ปรึกษาของผู้นำเชื้อสายอาร์เมเนียในนากอร์โน-คาราบัคออกมาระบุต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ชาวนากอร์โน-คาราบัคเชื้อสายอาร์เมเนียเกือบทั้งหมดไม่ต้องการอาศัยบนดินแดนที่อาเซอร์ไบจานเพิ่งประกาศอธิปไตยไป เนื่องจากกลัวว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะเกิดขึ้น
ในเวลาเดียวกับที่ประชาชนเชื้อสายอาร์เมเนียเดินทางอพยพออกจากนากอร์โน-คาราบัค ผู้นำอาร์เมเนียยังคงส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่าจะออกห่างจากพันธมิตรเก่าแก่อย่างรัสเซีย หลังอาร์เมเนียมองว่ารัสเซียเป็นคนกลางที่ล้มเหลวในการปกป้องนากอร์โน-คาราบัคจากปฏิบัติการโจมตีของอาเซอร์ไบจาน
นอกจากนายกรัฐมนตรีอาร์เมเนียจะออกมาระบุถึงความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในนากอร์โน-คาราบัคแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้นำอาร์เมเนียกล่าวย้ำคือ ปฏิบัติการโจมตีนากอร์โน-คาราบัคที่เกิดขึ้น เป็นผลจากโครงสร้างประกันความมั่นคงระหว่างอาร์เมเนียและรัสเซีย หรือองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม CSTO ที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
องค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมเป็นองค์กรด้านความมั่นคงหรือ CSTO ก่อตั้งขึ้นหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1992 นำโดยรัสเซียพร้อมสมาชิกรัฐอดีตสหภาพโซเวียตอีก 5 รัฐ ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และอาร์เมเนีย
หลักประกันความมั่นคงร่วมระหว่างประเทศสมาชิกของ CSTO มีลักษณะคล้ายกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต นั่นก็คือ หากมีชาติใดชาติหนึ่งที่เป็นสมาชิกถูกโจมตี ชาติสมาชิกที่เหลือจะต้องร่วมปกป้องแต่หลังจากเกิดปฏิบัติการโจมตีนากอร์โน-คาราบัคเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศ นากอร์โน-คาราบัคจะเป็นดินแดนในอาเซอร์ไบจาน ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกองค์การความมั่นคงร่วมของ CSTO แต่ในมุมของอาร์เมเนีย
การที่ดินแดนที่มีประชากรของตนเองอยู่โดนโจมตี แต่องค์การ CSTO ไม่เข้ามาแทรกแซงและหยุดยั้งการโจมตี คือความล้มเหลวของพี่ใหญ่อย่างรัสเซีย อย่างไรก็ดี สัญญาณความห่างเหินระหว่างรัสเซียและอาร์เมเนียปรากฏมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
ก่อนหน้านี้ เหตุการณ์ที่อาร์เมเนียรู้สึกว่ารัสเซียไม่สามารถประกันความมั่นคงให้ได้ตามสัญญาคือ เหตุการณ์ปิดล้อมระเบียงลาชินในปี 2022 ซึ่งเป็นทางเชื่อมเดียวระหว่างแผ่นดินอาร์เมเนียและนากอร์โน-คาราบัค
นี่จึงเป็นสาเหตุที่อาร์เมเนียค่อยๆ ลดความเชื่อมั่นในรัสเซีย พยายามลดการพึ่งพารัสเซีย และเริ่มหันไปแสวงหาการประกันความมั่นคงจากโลกตะวันตกแทน เช่น การซ้อมรบร่วมกับสหรัฐฯ หรือเตรียมให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรมของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้กฎหมายระหว่างประเทศสามารถจัดการกรณีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนากอร์โน-คาราบัคได้
ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวจากอาเซอร์ไบจานล่าสุดมีรายงานว่าประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจานมีกำหนดพบพันธมิตรคนสำคัญอย่างตุรกีในวันนี้ โดยผู้นำตุรกีจะเดินทางไปยังอาเซอร์ไบจานเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดใช้งานท่อก๊าซ และสถานการณ์ในนากอร์โน-คาราบัคจะเป็นหนึ่งในประเด็นการพูดคุยของ 2 ผู้นำ