สงครามอิสราเอล-ฮามาส: เผยโฉมผู้นำคนสำคัญของฮามาสที่อิสราเอลหมายเด็ดหัว – BBC News ไทย
บรรดาผู้นำคนสำคัญของกลุ่มฮามาส ทั้งในสายการเมืองและสายรุกรบประจัญบาน ต่างต้องคอยหลบซ่อนตัวตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะถูกทางการอิสราเอลติดตามไล่ล่าเอาชีวิตหลายต่อหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้คือผู้ที่อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการ “น้ำท่วมอัลอักซอ” ซึ่งกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลจากฉนวนกาซาแบบเหนือความคาดหมาย ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดสงครามนองเลือดระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ขึ้นอีกครั้ง
ลีนา อัลชาวับเคห์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีแผนกภาษาอาหรับ ได้รวบรวมประวัติของบรรดาผู้นำกลุ่มฮามาส ซึ่งที่ผ่านมาหลายคนไม่เคยปรากฏตัวต่อสาธารณะ หรืออย่างมากก็ออกสื่อโดยมีผ้าคลุมหรือหน้ากากปิดบังตัวตนเอาไว้เสมอ
โมฮัมเหม็ด เดอีฟ
เขาคือผู้วางแผนและดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ลับ ซึ่งเปิดทางให้นักรบฮามาสเจาะทะลวงเข้าไปโจมตีอิสราเอลจากฝั่งของฉนวนกาซาได้
ชื่อจริงของเขาคือ โมฮัมเหม็ด ดีอับ อัล มาสรี (Mohamed Diab Al-Masry) มีฉายาว่า “อาบู คาเล็ด” ทั้งมีชื่อเล่นที่เหล่าสมาชิกกลุ่มฮามาสเรียกกันว่า “อัล เดอีฟ” เขาเป็นผู้บัญชาการกองพัน “อิซ อัลดิน อัลคัสซัม” (Izz al-Din al-Qassam) ซึ่งเป็นหน่วยรบที่เปรียบเสมือนกองทัพของฮามาสนั่นเอง
เดอีฟเกิดในเขตฉนวนกาซาเมื่อปี 1965 เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวปาเลสไตน์ภายใต้สมญาว่า “ผู้บงการ” ส่วนชาวอิสราเอลต่างเรียกเขาว่า “บุรุษแห่งความตาย” หรือไม่ก็ “นักรบเก้าชีวิต”
เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งกาซา ตอนที่เป็นนักศึกษาเขามีใจรักในศิลปะการแสดงและละครเวที โดยได้ก่อตั้งคณะละครขึ้นมาด้วย ซึ่งฉายา “อาบู คาเล็ด” ของเขานั้น มาจากชื่อตัวละครในประวัติศาสตร์ช่วงต้นของยุคกลาง ซึ่งเขาเคยสวมบทบาทนี้ในละครเรื่อง “ตัวตลก” (The Clown)
เมื่อมีการก่อตั้งกลุ่มฮามาส เดอีฟเข้าร่วมขบวนการในฝ่ายสู้รบทันทีโดยไม่ลังเล ซึ่งทำให้เขาถูกทางการอิสราเอลจับกุมตัวในปี 1989 และต้องอยู่ในเรือนจำนานถึง 16 เดือน โดยไม่ได้มีการพิจารณาคดีแต่อย่างใด
ระหว่างที่ถูกจำคุก เดอีฟได้ทำข้อตกลงกับ ซาการียา อัล ชอร์บากี และ ซาลาห์ เชฮาเดห์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน โดยทั้งสามจะจัดตั้งขบวนการสู้รบที่แยกเป็นอิสระจากฮามาส เพื่อมุ่งจับกุมตัวทหารอิสราเอลโดยเฉพาะ ซึ่งในเวลาต่อมาขบวนการสู้รบนี้ก็คือกองพัน อิซ อัลดิน อัลคัสซัม นั่นเอง
เมื่อได้รับการปล่อยตัว เดอีฟขึ้นเป็นผู้นำของกองพันดังกล่าว โดยเป็นผู้วางแผนขุดอุโมงค์ลับเข้าไปโจมตีอิสราเอล และยังเสนอกลยุทธ์การยิงโจมตีด้วยจรวดในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ข้อหาร้ายแรงที่ทำให้ทางการอิสราเอลติดตามไล่ล่าเขานั้น มาจากการที่เดอีฟเป็นผู้วางแผนและบงการเหตุโจมตีหลายครั้ง เพื่อแก้แค้นให้กับ ยาห์ยา อัยยาช มือระเบิดของกลุ่มฮามาสที่ถูกทางการอิสราเอลสังหาร ซึ่งเหตุโจมตีที่เดอีฟเป็นผู้บงการนั้น รวมถึงการวางระเบิดรถบัสโดยสารเมื่อปี 1996 ซึ่งทำให้มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตไปราว 50 ราย รวมทั้งเหตุจับกุมและสังหารทหารอิสราเอล 3 นาย เมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1990
ทางการอิสราเอลจับกุมตัวเดอีฟได้อีกครั้งในปี 2000 แต่เขาก็หนีรอดออกมาได้ในช่วงต้นของเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านที่เรียกว่า “อินติฟาดาครั้งที่สอง” (Second Intifada) ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็หายตัวไป โดยแทบจะไม่ทิ้งร่องรอยเบาะแสอะไรเอาไว้เลย
ปัจจุบันมีภาพถ่ายของเขาที่ปรากฏในสื่อมวลชนเพียง 3 ใบ รูปหนึ่งเป็นภาพถ่ายที่เก่ามาก ส่วนรูปที่สองเป็นภาพที่เขาปิดบังใบหน้าไว้ ส่วนรูปที่สามเป็นเพียงภาพถ่ายเงาของเขาเท่านั้น
เมื่อปี 2002 อิสราเอลเปิดฉากไล่ล่าสังหารเดอีฟอย่างหนักหน่วง ซึ่งแม้เขาจะรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ แต่ก็ต้องเสียดวงตาไปข้างหนึ่ง ทางการอิสราเอลยังอ้างว่า เขาได้สูญเสียเท้าและมือไปอย่างละข้างด้วย ซ้ำยังพูดจาสื่อสารได้ลำบาก หลังผ่านเหตุโจมตีที่ฝ่ายอิสราเอลพยายามสังหารเขามาหลายครั้ง
ในเหตุโจมตีฉนวนกาซาที่ยาวนานกว่า 50 วัน เมื่อปี 2014 ทางการอิสราเอลพยายามไล่ล่าเด็ดหัวเดอีฟอีกครั้ง แต่เขาก็ยังหนีรอดไปได้ ทว่าภรรยาและลูกอีกสองคนของเขากลับถูกเอาชีวิตแทน
ชื่อเล่น “เดอีฟ” นั้นหมายความว่า “แขกผู้มาเยือน” ในภาษาอาหรับ เขาได้ชื่อนี้มาเพราะเป็นบุคคลที่ต้องระเหเร่ร่อนไปในสถานที่ต่าง ๆ อยู่เสมอ ต้องย้ายที่นอนค้างแรมใหม่ทุกคืน เพื่อหลบเลี่ยงการโจมตีสังหารจากอิสราเอล
มาร์วาน อิซซา
ทางการอิสราเอลระบุว่า เขาคือคนที่ “ลงมือทำมากกว่าพูด” แถมยังฉลาดเป็นกรดจนสามารถ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นโลหะได้” ตราบใดที่ชายผู้นี้ยังคงมีชีวิตอยู่ สงครามกับกลุ่มฮามาสที่ปะทะกันด้วยพลังสมองจะไม่มีวันสิ้นสุด
อิซซาคือมือขวาของเดอีฟ และรองผู้บัญชาการสูงสุดของกองพัน อิซ อัลดิน อัลคัสซัม ทั้งยังเป็นสมาชิกในฝ่ายการเมืองและฝ่ายทหารของกลุ่มฮามาสอีกด้วย โดยเขาได้รับสมญาว่า “บุรุษเงา” (shadow man)
ในวัยเยาว์อิซซาเป็นนักบาสเก็ตบอลดาวรุ่ง แต่น่าเสียดายว่าเขาไม่ได้เข้าสู่เส้นทางนักกีฬาอาชีพ เพราะได้เข้าร่วมกับกลุ่มฮามาสเสียก่อน ตั้งแต่อายุยังน้อย
กองกำลังอิสราเอลจับกุมตัวเขาได้ ในเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้าน “อินติฟาดาครั้งแรก” (First Intifada) เมื่อปี 1987 ทำให้อิซซาต้องรับโทษจำคุกอยู่ 5 ปี ต่อมาเขาถูกทางการปาเลสไตน์จับกุมอีกในปี 1997 แต่ได้รับการปล่อยตัวหลังเกิดเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้าน “อัลอักซอ อินติฟาดา” (Al-Aqsa Intifada) ในปี 2000
หลังออกจากคุก เขาได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบการทหารของกองพัน อิซ อัลดิน อัลคัสซัม โดยเขาใช้ชื่อแฝงแบบกองโจรว่า “อาบู อัล บารา” และเป็นผู้วางแผนบุกโจมตีอิสราเอลหลายครั้ง นับตั้งแต่ปฏิบัติการ “หินน้ำมัน” (Shale Stones) เมื่อปี 2012 มาจนถึงปฏิบัติการ “น้ำท่วมอัลอักซอ” ครั้งล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศในสนามรบ การหาข่าวกรอง และการใช้กองกำลังเชิงเทคนิค เพื่อจัดการโจมตีอย่างเป็นระบบและแม่นยำ โดยการบุกโจมตีถิ่นฐานของชาวยิวและศูนย์บัญชาการด้านความมั่นคงของอิสราเอลหลายครั้งเป็นฝีมือของเขา
อิซซาเป็นหนึ่งในผู้นำกลุ่มฮามาสที่อิสราเอลต้องการตัวมากที่สุด โดยมีความพยายามที่จะสังหารเขาไปพร้อมกับเดอีฟ ระหว่างการประชุมใหญ่ของสมาชิกกลุ่มฮามาสในปี 2006 ทำให้อิซซาได้รับบาดเจ็บ แต่ก็สามารถหนีเอาชีวิตรอดไปได้ นอกจากนี้ เครื่องบินรบของอิสราเอลยังถล่มบ้านของเขาถึงสองครั้ง ในปี 2014 และ 2021 ทำให้พี่ชายของอิซซาเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
ก่อนปี 2011 ไม่มีใครเคยได้เห็นใบหน้าของเขา แต่ในการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ ระหว่างสมาชิกกลุ่มฮามาสกับกิลาด ชาลิต ทหารอิสราเอล เขาได้ร่วมถ่ายรูปหมู่กับคนอื่น ๆ ในพิธีการดังกล่าวด้วย
ยาห์ยา ซินวาร์
ในเดือนกันยายน ปี 2015 ทางการสหรัฐฯ ได้นับรวมเอาคนผู้นี้เป็นหนึ่งใน “ผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศ” เนื่องจากยาห์ยา อิบราฮิม อัล ซินวาร์ คือผู้นำของกลุ่มฮามาสและหัวหน้าฝ่ายการเมืองของขบวนการในฉนวนกาซา
ซินวาร์เกิดเมื่อปี 1962 เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยของฮามาส หรือ “มาจด์” (Majd) ซึ่งดูแลความปลอดภัยภายในองค์กร โดยคอยสืบสวนหาหนอนบ่อนไส้หรือสายลับของอิสราเอล ติดตามความเคลื่อนไหวด้านข่าวกรองและบรรดาเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของอิสราเอลด้วย
ซินวาร์เคยถูกจับกุมตัวสามครั้ง ครั้งแรกในปี 1982 เขาถูกกองกำลังอิสราเอลควบคุมตัวไว้นอกเรือนจำนาน 4 เดือน ส่วนครั้งที่สามในปี 1988 ศาลมีคำพิพากษาให้เขาต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตในความผิดทั้ง 4 กระทง แต่ในระหว่างที่รับโทษอยู่นั้น กิลาด ชาลิต ทหารประจำรถถังของอิสราเอล ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็น “คนของประชาชน” ถูกฮามาสจับไว้เป็นตัวประกัน ทำให้รัฐบาลอิสราเอลยินยอมแลกตัวชาลิตกับนักโทษกลุ่มฮามาสและฟาตาห์ของปาเลสไตน์ ในปี 2011
ซินวาร์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอิสราเอลเพราะการแลกตัวนักโทษในครั้งนั้น ในทันทีที่ได้รับอิสรภาพ เขาก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนสำคัญของขบวนการฮามาสทันที โดยได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองในฉนวนกาซา แทนอิสมาอิล ฮานิเยห์ ในวันที่ 13 ก.พ. ปี 2017
อับดุลลาห์ บาร์กูตี
เขาคือ “นายช่างใหญ่” ผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตวัตถุระเบิด อาวุธสารพัดชนิด และสารพิษจากมันฝรั่งของกลุ่มฮามาส
บาร์กูตีเกิดที่ประเทศคูเวตเมื่อปี 1972 และได้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศจอร์แดน หลังเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่สองในปี 1990 ต่อมาเขามีโอกาสได้เข้าเรียนสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าในมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้เป็นเวลาสามปี ทำให้รู้วิธีผลิตระเบิดแบบต่าง ๆ แต่เขาเรียนไม่จบ เพราะไปเดินเรื่องขอใบอนุญาตเข้าดินแดนปาเลสไตน์เสียก่อน
เหล่าคนใกล้ชิดของบาร์กูตีนั้น ไม่มีใครเลยที่ล่วงรู้ถึงความสามารถในการผลิตอาวุธของเขามาก่อน จนกระทั่งวันหนึ่งบาร์กูตีพาลูกพี่ลูกน้องที่เป็นทหารในกองพัน อิซ อัลดิน อัลคัสซัม ไปยังเขตเวสต์แบงก์ พร้อมกับสาธิตการทำระเบิดให้ดู ทำให้ญาติของเขาผู้นั้นรายงานเรื่องดังกล่าวกับผู้บังคับบัญชา ซึ่งต่อมาได้เชิญให้บาร์กูตีเข้าร่วมงานในกองพันนี้ด้วย โดยเขาตั้งโรงงานผลิตอาวุธในโกดังสินค้าของเมืองที่เขาอาศัยอยู่
บาร์กูตีถูกหน่วยรบพิเศษของอิสราเอลจับกุมตัวได้โดยบังเอิญในปี 2003 ทำให้ถูกควบคุมตัวเพื่อสอบปากคำนานถึง 3 เดือน เนื่องจากต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุสังหารชาวอิสราเอลจำนวนมาก
ในที่สุดศาลอิสราเอลก็มีคำพิพากษา ให้เขาได้รับโทษจำคุกยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศและของโลก คือโทษจำคุกตลอดชีวิตถึง 67 ครั้ง สำหรับความผิดทั้งสิ้น 67 กระทง รวมทั้งมีโทษจำคุกเพิ่มเติมอีก 5,200 ปีด้วย
หลังจากถูกขังเดี่ยวอยู่ระยะหนึ่ง บาร์กูตีได้อดอาหารประท้วง จนได้รับการปล่อยตัวให้มาอยู่ในเรือนจำปกติ จากนั้นเขาลงมือเขียนหนังสือ “เจ้าชายแห่งเงา” (Prince of the Shadow) จากที่คุมขัง ซึ่งต่อมาชื่อหนังสือได้กลายเป็นสมญานามของตัวเขาเอง โดยได้เขียนบอกเล่าถึงอัตชีวประวัติและรายละเอียดของปฏิบัติการต่าง ๆ ในอดีต ที่เขาและเพื่อนนักโทษกลุ่มฮามาสเคยร่วมกันทำมา เช่นเขานำวัตถุระเบิดผ่านด่านตรวจของทหารอิสราเอลมาได้อย่างไร และดำเนินปฏิบัติการทิ้งระเบิดจากระยะไกลได้อย่างไร
อิสมาอิล ฮานิเยห์
เขาคือหัวหน้าฝ่ายการเมืองของขบวนการฮามาส และนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลปาเลสไตน์ชุดที่ 10 โดยขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ในปี 2006
อิสมาอิล อับเดล ซาเลม อัล ฮานิเยห์ ผู้มีชื่อเล่นว่า “อัล อับด์” เกิดในค่ายผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ ต่อมาในปี 1989 ทางการอิสราเอลสั่งคุมขังเขาเป็นเวลาสามปี และในปี 1992 ได้สั่งเนรเทศเขากับผู้นำฮามาสคนอื่น ๆ ให้ไปอยู่ในเขตปลอดคน (no man’s land) ระหว่างอิสราเอลและเลบานอนเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ซึ่งเขาต้องใช้ชีวิตที่นั่นด้วยความยากลำบากและเสี่ยงตายหลายครั้ง
หลังพ้นโทษแล้วเขากลับมายังเขตกาซา และได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสำนักงานของเชคอาเหม็ด ยัสซิน ผู้นำทางจิตวิญญาณของฮามาส ในปี 1997 ซึ่งตำแหน่งนี้ทำให้เขาเริ่มมีอิทธิพลสูงขึ้นในขบวนการ
ในวันที่ 16 ก.พ. 2006 กลุ่มฮามาสเสนอชื่อฮานิเยห์ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์ แต่เพียงหนึ่งปีต่อมา เขาถูกขับออกจากตำแหน่งโดยมาห์มูด อับบาส ประธานองค์การบริหารรัฐปาเลสไตน์ในตอนนั้น เนื่องจากกองพัน อิซ อัลดิน อัลคัสซัม บุกเข้ายึดครองฉนวนกาซาและขับไล่กลุ่มฟาตาห์ของอับบาสออกไป ทำให้เกิดการสู้รบนองเลือดที่ยาวนานถึงหนึ่งสัปดาห์
ฮานิเยห์ปฏิเสธไม่ยอมรับคำสั่งของอับบาส โดยอ้างว่าเป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลของเขาจะเดินหน้าทำงานต่อไป โดยไม่ละทิ้งหน้าที่และความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงระดับชาติที่มีต่อชาวปาเลสไตน์
ฮานิเยห์พยายามเรียกร้องต่อกลุ่มฟาตาห์ ให้ยอมหันหน้ามาสร้างความสมานฉันท์ปรองดองกันอีกครั้ง แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล เขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นหัวหน้าฝ่ายการเมืองของฮามาสในปี 2017 และในปีต่อมารัฐบาลอเมริกันได้ประกาศให้เขาเป็นหนึ่งใน “ผู้ก่อการร้าย” ในบัญชีรายชื่อของสหรัฐฯ
คาเล็ด เมชาอัล
เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งขบวนการฮามาส ทั้งเป็นสมาชิกของฝ่ายการเมืองประจำกลุ่มมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม
เมชาอัลมีสมญาว่า “อาบู อัล วาลิด” เกิดที่หมู่บ้านซิลวาดของเขตเวสต์แบงก์ในปี 1956 เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่นั่น ก่อนครอบครัวจะย้ายไปยังประเทศคูเวต ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาสำเร็จการศึกษาชั้นประถมและมัธยมตามลำดับ
เมชาอัลดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการเมืองของฮามาส ระหว่างปี 1996-2017 เขาได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำขบวนการฮามาส สืบต่อจากเชคอาเหม็ด ยัสซิน ผู้ล่วงลับ ในปี 2004
ในปี 1997 เขาตกเป็นเป้าหมายในการลอบสังหารของมอสซาด (Mossad) หรือหน่วยสายลับอิสราเอล ซึ่งดำเนินแผนดังกล่าวตามคำสั่งของเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลในขณะนั้น โดยมอสซาดส่งสายลับที่ถือหนังสือเดินทางปลอมสัญชาติแคนาดาเข้าไปในจอร์แดน 10 คน ก่อนจะเข้าประชิดตัวเมชาอัลและฉีดสารพิษใส่เขา ขณะที่กำลังเดินอยู่บนท้องถนนในกรุงอัมมานของจอร์แดน
อย่างไรก็ตาม ทางการจอร์แดนได้ทราบถึงแผนการนี้ และได้จับกุมตัวสายลับของอิสราเอลไว้ได้ 2 ราย กษัตริย์ฮุสเซนแห่งจอร์แดนทรงร้องขอยาถอนพิษจากนายเนทันยาฮู เพื่อช่วยชีวิตเมชาอัลซึ่งมีสถานะเป็นพลเมืองของจอร์แดนในขณะนั้น แต่ผู้นำอิสราเอลปฏิเสธ จนอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐฯ ต้องเข้าแทรกแซง จนสามารถกดดันให้นายเนทันยาฮูมอบยาถอนพิษได้สำเร็จ
เมชาอัลมีโอกาสได้มาเยือนฉนวนกาซาเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อปี 2012 ทั้งยังเป็นการเยือนดินแดนปาเลสไตน์เป็นครั้งแรกของเขาในรอบหลายสิบปี หลังต้องจากไปในวัยเยาว์เมื่ออายุได้ 11 ขวบ โดยมีชาวปาเลสไตน์และผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ให้การต้อนรับ
มาห์มูด ซาฮาร์
เขาเป็นผู้นำกลุ่มฮามาสที่ถูกอิสราเอลควบคุมตัวไว้เป็นระยะเวลาสั้นที่สุด เพียงแค่ 6 เดือน หลังการก่อตั้งขบวนการยุคแรกเริ่ม
ซาฮาร์เกิดเมื่อปี 1945 ในเมืองกาซาซิตี โดยมีพ่อเป็นชาวปาเลสไตน์และแม่เป็นชาวอียิปต์ ในวัยเด็กเขาเติบโตขึ้นในเมืองอิสมาอิเลียของอียิปต์ ก่อนจะย้ายกลับมารับการศึกษาชั้นประถมและมัธยมในเขตกาซา และต่อมาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาแพทยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเอนชามส์ในกรุงไคโรของอียิปต์ เมื่อปี 1971 รวมทั้งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาศัลยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเดียวกันในปี 1976 ด้วย
ซาฮาร์เคยทำงานเป็นแพทย์ในเขตกาซาและเมืองข่านยูนิส ก่อนที่ทางการอิสราเอลจะไล่เขาออกเพราะสายสัมพันธ์ทางการเมืองที่เขามีกับฮามาส การที่เขาเป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญในฝ่ายการเมืองของขบวนการ ทำให้ถูกจับกุมคุมขังในเรือนจำอิสราเอลเป็นเวลานาน 6 เดือน เมื่อปี 1988 และถูกเนรเทศไปยังเขตปลอดคนระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนเป็นเวลาหนึ่งปี เมื่อปี 1992
หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติที่กลุ่มฮามาสได้เสียงข้างมาก ซาฮาร์ได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของปาเลสไตน์ ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ฮานิเยห์ ก่อนที่ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส จะประกาศขับฮานิเยห์ออกจากตำแหน่งในหนึ่งปีต่อมา
อิสราเอลพยายามจะสังหารซาฮาร์ในปี 2003 โดยส่งเครื่องบินรบไปทิ้งระเบิดใส่บ้านของเขาในย่านริมาลของกาซาซิตี เหตุการณ์นี้ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย แต่คาเล็ดลูกชายคนโตของเขาต้องเสียชีวิต ต่อมาในปี 2008 ลูกชายคนที่สองชื่อฮอสซัม ที่เป็นสมาชิกของกองพัน อิซ อัลดิน อัลคัสซัม ถูกสังหารพร้อมกับนักรบฮามาสอีก 18 คน หลังอิสราเอลบุกโจมตีเขตกาซาทางตะวันออก
ซาฮาร์ยังผลิตงานเขียนหลายรูปแบบ โดยมีผลงานทั้งหนังสือวิชาการ งานเขียนว่าด้วยการเมืองและวรรณกรรมอีกจำนวนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น “การศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน – ปัญหาแห่งสังคมร่วมสมัยของเรา” รวมทั้ง “ไม่มีที่ให้ใต้ดวงอาทิตย์” (No Place Under the Sun) ซึ่งเป็นงานเขียนที่โต้กลับหนังสือของนายเนทันยาฮูและนวนิยาย “บนทางเท้า” (On the Pavement)