คุ้มไหม? เศรษฐีเบอร์ 1 อังกฤษ ทุ่มซื้อหุ้น 25% ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’

0


Key Points

  • คนที่กำลังจะเข้าเส้นชัยคือ เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษ เจ้าของธุรกิจพลังงาน INEOS ที่ข้อเสนอนั้นดูดีกว่าฝ่ายกาตาร์
  • จากเดิมที่มีการยื่นข้อเสนอเพื่อขอเทคโอเวอร์ทั้งหมด 100% ทางฝ่ายมหาเศรษฐีผู้ประกาศตัวเองว่าเป็นแฟนบอลปีศาจแดงตัวยงจะขอซื้อหุ้นเพียงแค่ 25%  หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น
  • ตามข้อมูลจาก Forbes มีการคำนวนมูลค่าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาท ถือเป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
  • ธุรกิจฟุตบอลเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่จะได้รับเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากมายมหาศาล โดยที่มีการคาดว่ามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสำหรับ Cycle ต่อไป (2025-2028) จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะในสหราชอาณาจักรเตรียมจะเพิ่มจำนวนแมตช์ถ่ายทอดสดเป็น 270 นัด

ถึงแม้ผลงานในสนามช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทีม “ปิศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะตกต่ำลงไปจากยุคที่ผู้จัดการทีมผู้ยิ่งใหญ่อย่างเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทัพอยู่มาก แต่กับเรื่องของผลงานนอกสนามแล้วดูเหมือน “แบรนด์” ของพวกเขาไม่ได้ลดความแข็งแกร่งลงไปเลย

สิ่งที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือกระแสข่าวการขายหุ้นของครอบครัวเกลเซอร์ ซึ่งเข้ามาเทคโอเวอร์ทีมอันดับหนึ่งของอังกฤษไปตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งหุ้นและสิทธิ์ในการบริหารนั้นได้ถูกส่งต่อจากคนรุ่นพ่ออย่างมัลคอล์ม เกลเซอร์ มาสู่คนรุ่นลูกซึ่งมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 6 คนด้วยกัน ซึ่งมีการประกาศว่าจะปล่อยหุ้นในมือออกไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (2022)

คุ้มไหม? เศรษฐีเบอร์ 1 อังกฤษ ทุ่มซื้อหุ้น 25% ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’ – โจเอล และอัฟราม เกลเซอร์ 2 พี่น้องตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของร่วมสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (เครดิตภาพ: AFP) –

ปรากฏว่าระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการขายหุ้นออกไปอย่างเป็นทางการ โดยปัญหาใหญ่ที่ทำให้เรื่องทุกอย่างล่าช้านั้นเป็นเพราะ “มูลค่า” ที่เกลเซอร์ต้องการนั้นสูงกว่ามูลค่าความเป็นจริงอยู่มาก และไม่มีนักลงทุนหรือกลุ่มทุนที่ไหนที่ต้องการจะจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้

ในช่วงแรกแมนฯ ยูไนเต็ด ซึ่งทำการแต่งตั้ง The Raine Group ธนาคารเพื่อการลงทุนจากนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา เป็นนายหน้าในการเจรจาหาผู้ซื้อได้รับความสนใจจากนักลงทุนและกลุ่มทุนหลายแห่ง แต่สุดท้ายแล้วเหลือเพียงแค่ 2 รายเท่านั้นที่พร้อมจะทำการประมูลแข่งกัน

รายที่ได้รับการสนับสนุนจากแฟนฟุตบอลมากที่สุดคือกลุ่มทุนจากกาตาร์ที่นำมาโดย ชีค ยัสซิม ซึ่งพร้อมจ่ายเงินจำนวนร่วม 5,000 ล้านปอนด์ หรือกว่า 2.65 แสนล้านบาทเพื่อทำการเทคโอเวอร์หุ้นทั้งหมด 100% พร้อมปลดหนี้สโมสรอีกร่วม 1,000 ล้านปอนด์ หรือราว 4.4 หมื่นล้านบาท

ไม่นับเงินลงทุนอีกมากมายที่จะนำมาใช้ปรับปรุงทีม ศูนย์ฝึกซ้อม ไปจนถึงสนามเหย้าโอลด์ แทรฟฟอร์ด ที่ในอดีตอาจจะเคยยิ่งใหญ่แต่ปัจจุบันเก่าแก่และทรุดโทรมอย่างน่าใจหาย ในระดับที่หลังคารั่วน้ำฝนหยดใส่หัวแฟนฟุตบอลก็ไม่มีการซ่อมแซม

แต่ความ “ลีลา” ของครอบครัวเกลเซอร์ทำให้ชีค ยัสซิมหมดความอดทน

คนที่กำลังจะเข้าเส้นชัยคือ เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของอังกฤษ เจ้าของธุรกิจพลังงาน INEOS ที่ข้อเสนอนั้นดูดีกว่าอีกฝ่าย

คุ้มไหม? เศรษฐีเบอร์ 1 อังกฤษ ทุ่มซื้อหุ้น 25% ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’ – เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีรวยที่สุดในอังกฤษและเจ้าของธุรกิจพลังงาน INEOS (เครดิตภาพ: AFP) –

ที่ว่าดูดีกว่านั้นไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของ “มูลค่า” ที่มีการประเมินแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้สูงกว่าฝั่งกาตาร์ แต่เป็นเรื่องของการปรับข้อเสนอให้เป็นไปตามที่ฝ่ายของเกลเซอร์ต้องการ

จากเดิมที่มีการยื่นข้อเสนอเพื่อขอเทคโอเวอร์ทั้งหมด 100% ทางฝ่ายมหาเศรษฐีผู้ประกาศตัวเองว่าเป็นแฟนบอลปิศาจแดงตัวยงจะขอซื้อหุ้นเพียงแค่ 25% หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น

การทำเช่นนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ครอบครัวเกลเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องทั้ง 6 หรือจะเหลือแค่โจเอล และอัฟราม เกลเซอร์ ซึ่งดูแลกิจการตรงนี้ต่อจากพ่อมาโดยตลอด ได้ถือครองมหาสมบัติชิ้นนี้ต่อไปตามความประสงค์

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ถูกใจสาวก Red Army ทั่วโลกสักเท่าไรนัก เพราะมันมีคำถามทั้งในเชิงของเรื่องการบริหารสโมสรว่าการถือหุ้นแค่ 25% จะสร้างความแตกต่างได้อย่างไรในเมื่อสุดท้ายแล้วหุ้นใหญ่และอำนาจการตัดสินใจยังอยู่กับเกลเซอร์เหมือนเดิม

และคำถามอีกด้านที่น่าคิดเช่นกันในมุมของนักลงทุนว่าการที่เซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ ลงทุน 1,600 ล้านปอนด์ หรือราว 7 หมื่นล้านบาทเพื่อแลกกับหุ้นจำนวนเท่านี้ถือเป็นการลงทุนที่ดีจริงๆแล้วใช่ไหม?

ตามข้อมูลจาก Forbes มีการคำนวนมูลค่าของทีมแมนฯ ยูไนเต็ดเอาไว้ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาท ถือเป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงแค่ทีม “ราชันชุดขาว” เรอัล มาดริด สโมสรดังจากสเปนทีมเดียวเท่านั้น

จุดที่น่าสนใจคือมูลค่าของสโมสรได้เพิ่มขึ้นจากปีกลายถึง 30% ด้วยกัน จาก 4,600 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 (และ 4,200 ล้านดอลลาร์) เป็น 6,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

และหากเทียบกับในปี 2014 มูลค่าของแมนฯ ยูไนเต็ดเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว เพราะเมื่อ 9 ปีที่แล้วมูลค่าอยู่ที่ 2,800 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมามีเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้นที่มูลค่าของสโมสรลดลงคือปี 2019 ที่มูลค่าลดลงเหลือ 3,800 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่มีมูลค่า 4,100 ล้านดอลลาร์

โดยที่อย่าลืมว่า นี่เป็นช่วงที่ผลงานของแมนฯ ยูไนเต็ดตกต่ำลงอย่างหนักนับตั้งแต่ที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ประกาศวางมือหลังคุมทีมมากว่า 26 ปีซึ่งเป็นยุคทองที่กวาดความสำเร็จและสั่งสมชื่อเสียงมาได้อย่างมากมาย

หากการเข้ามาของคนที่เป็นแฟนฟุตบอลเองด้วยอย่างเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ สามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของทีมให้กลับมาเป็นทีมฟุตบอลที่ดี บริหารจัดการได้ดีเหมือนสโมสรคู่แข่งทีมอื่น และกลับมาประสบความสำเร็จในสนามอีกครั้ง

ปิศาจแดงอาจจะแปลงร่างเป็นปิศาจทองได้เลย

ทั้งนี้ อย่าลืมว่าธุรกิจฟุตบอลเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะกับสโมสรในพรีเมียร์ลีกที่จะได้รับเงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดมากมายมหาศาลที่มาจากทั่วโลกซึ่งสูงกว่าลีกคู่แข่งชาติอื่นแบบเทียบกันไม่ได้ โดยที่มีการคาดว่ามูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดสำหรับ Cycle ต่อไป (2025-2028) จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะในสหราชอาณาจักรเตรียมจะเพิ่มจำนวนแมตช์ถ่ายทอดสดเป็น 270 นัด

ไม่นับเรื่องของ Eyeball จำนวนนับร้อยล้านคนที่ไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็พร้อมติดตามเชียร์แมนฯ ยูไนเต็ดเสมอ ซึ่งฐานแฟนฟุตบอลที่มีทั่วโลกเป็นหนึ่งใน “ไม้ตาย” ที่ทางด้าน Raine Group ใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลการประเมินราคาการเทคโอเวอร์สโมสรไว้ที่ 6,000-8,000 ล้านปอนด์ ที่จะทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดเป็น “ทีมกีฬาที่แพงที่สุดในโลก” ทีมใหม่ทันที

ดังนั้น สำหรับเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ การเข้ามาลงทุนในขั้นนี้กับหุ้น 25% แลกกับเงิน 1,600 ล้านปอนด์อาจจะไม่ใช่การเดิมพันที่มีความเสี่ยงอะไร ต่อให้ในอนาคตแผนระยะยาวที่จะค่อยๆซื้อหุ้นเพิ่มจากครอบครัวเกลเซอร์จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม

ความเสี่ยงเดียวที่มีคือการพลาดโอกาสที่จะไม่ได้เข้ามาเป็น “เจ้าของ” สโมสรฟุตบอลที่เป็นขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าทีมนี้ ซึ่งมหาเศรษฐีที่มีใจรักกีฬาและลงทุนมาแล้วในหลายประเภท ซึ่งรวมถึงสโมสรฟุตบอลนีซ ในลีก เอิง ประเทศฝรั่งเศส และเคยคิดจะซื้อทีมเชลซีเมื่อปี 2022 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ตัดสินใจแล้วว่าเขาจะไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้หลุดลอยไป ได้เท่านี้ก็เอาเท่านี้ก่อน

ระหว่างที่รอกระบวนการซื้อขายหุ้นซึ่งมีความสลับซับซ้อนและยุ่งยากขึ้นกว่าที่คาดเพราะต้องมีการวางแผนกันอย่างละเอียดว่าจะมีจำนวนหุ้น Class A ในมือของเกลเซอร์เอง และ Class B ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กจำนวนเท่าไรที่จะขายให้กับเซอร์ จิม แรตคลิฟฟ์ เพื่อไม่ให้มีปัญหาการฟ้องร้องตามกฎหมายจากกลุ่มผู้ที่ต้องการต่อต้าน ก็จะมีการวางแผนสำหรับการฟื้นฟูสโมสรอันเป็นที่รักแห่งนี้

เริ่มจากการปรับโครงสร้างการบริหารที่อ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพภายใต้การนำของ ริชาร์ด อาร์โนลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของสโมสร รวมถึงจอห์น เมอร์เทอห์ ผู้อำนวยการสโมสรฝ่ายฟุตบอลที่จะมีคนใหม่เข้ามาแทนที่ ต่อด้วยการปรับนโยบายการซื้อขายผู้เล่นให้ทันสมัยเทียบเท่ากับสโมสรคู่แข่งเพื่อไม่ให้แมนฯ ยูไนเต็ดต้องจ่าย “ค่าไม่ฉลาด” มากและบ่อยเท่าเดิมอีก

คุ้มไหม? เศรษฐีเบอร์ 1 อังกฤษ ทุ่มซื้อหุ้น 25% ‘แมนฯ ยูไนเต็ด’ – ด้านหน้าของสนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด รังเหย้าของแมนฯ ยูไนเต็ด ที่มีแฟนบอลแน่นขนัดแทบทุกนัดที่ลงแข่งในบ้าน (เครดิตภาพ: AFP) –

ต่อด้วยแผนการปรับปรุงโอลด์ แทรฟฟอร์ด ใหม่ที่ไม่ได้จบแค่การซ่อมหลังคาแต่ไปถึงแผนการขยายสนามให้มีความจุเพิ่มจาก 76,000 เป็น 90,000 ที่นั่ง

ถ้าทำได้จริงทั้งหมดนี้ ก็มีโอกาสที่แมนฯ ยูไนเต็ดจะคืนความยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

หรือต่อให้ไม่สำเร็จ แต่อย่างน้อยจากแฟนบอลคนหนึ่งมาสู่การเป็นเจ้าของร่วมของทีมที่รัก ก็ถือว่าการลงทุนคุ้มค่าตั้งแต่วินาทีแรกที่ตัดสินใจแล้ว

—————————-



Source link

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *