ชุ แมนฯ ซิ : นักข่าวที่เกือบถอดใจไปเป็นนักดนตรี สู่สื่อของทีมใหญ่ “แมนเชสเตอร์ ซิตี้”

0


“ผมอยากเป็นนักข่าวกีฬาต้องทำยังไง” 

“ผมอยากทำงานกับสโมสรฟุตบอลดัง ๆ ผมต้องทำยังไงบ้าง” 

 

เชื่อไหมว่าถ้าคุณถามคำถามนี้กับ “ชุ แมนฯ ซิ” อดีตผู้สื่อข่าวของ แมนฯ ซิตี้ ไทยแลนด์ ในวันที่เขายังเป็น ชุ HOTSHOT นักข่าวกีฬาหน้าใหม่ของสยามกีฬา เขาคงตอบว่า “ไม่รู้” 

และต่อให้ถามวันนี้ วันที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงในแวดวงอินฟลูเอนเซอร์สายฟุตบอลแล้ว เชื่อสิ เขาจะยังตอบคุณแค่ว่า “ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน มันคงเป็นโอกาสและจังหวะของชีวิต” 

แล้วไอ้โอกาสกับจังหวะชีวิตที่ว่า เขาได้มันมายังไง และใครเป็นคนหยิบยื่นมันมาให้ ?

หาคำตอบและเติมแรงบันดาลใจในการเป็นนักข่าวกีฬา ผ่านเรื่องราวของ ‘ชุ แมนฯ ซิ’ ไปพร้อม ๆ กันกับ Main Stand 

 

รัชดาซอย 4

ใจเย็นก่อน ! เห็นเปิดหัวมาด้วยคำว่ารัชดาซอย 4 หลายคนคงคิดดีไม่ได้แน่ สำหรับสายปาร์ตี้อาจจะคุ้นชินกับคำว่า อาร์ซีเอ 

แต่สำหรับ ชุติเดช นักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสาขาภาพยนตร์มาหมาด ๆ เขาคุ้นกับพื้นที่แถวนั้นในรูปแบบของ อสมท. และ ตึก RS 

ก็คนมันมีความฝันทางด้านนี้มาตั้งนาน เมื่อเรียนจบเขาก็สอดเรซูเม่ใส่แฟ้มแล้วเดินเตร่แถวย่านนั้นไปเรื่อย ๆ เขาหย่อนใบสมัครทุกที่ทุกตำแหน่ง หวังว่าจะมีงานในสายอาชีพที่ร่ำเรียนมาให้ได้ทำในเร็ววัน 

โชคชะตาก็ไม่ได้โหดร้ายกับชุติเดชเท่าไรนัก เพราะหลังจากตระเวนสมัครงานไม่นาน เขาก็ได้รับการตอบรับจาก SMMTV ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวกีฬา 

ด้วยความที่เป็นคนชอบดูกีฬาอยู่แล้ว โดยเฉพาะฟุตบอลที่เขาเป็นแฟนทีมเชลซี ก็ไม่ยากที่จะเขียนอัปเดตประเด็นข่าวลงเว็บไซต์แล้วส่งให้ผู้ประกาศข่าวอ่าน

แรก ๆ ก็ยังไม่มีอะไรหวือหวา เพราะเป็นนักข่าวกีฬาในประเทศไทยช่วงปี 2014 (พ.ศ. 2557) ที่ทีวีดิจิตอลเพิ่งกำเนิด สื่อมากมายหลายเจ้าก็พยายามหาแนวทางที่แตกต่าง สร้างรายการที่เป็นเอกลักษณ์ และปั้นผู้ประกาศและพิธีกรที่จะดึงดูดผู้ชมได้มากที่สุด 

ความยากของนักข่าวผู้ชายคือ คุณเป็นผู้ชาย ! เราไม่ได้เหยียดหรือแบ่งแยกทางเพศ แต่ ณ ยุคนั้นต้องยอมรับว่าการได้ดูผู้ประกาศข่าวหญิงอ่านข่าวกีฬาหรือรายงานผลบอลให้ฟังมันช่างสดใสจริง ๆ 

ชุติเดชได้รับมอบหมายจากหัวหน้าให้ลองสร้างตัวตนในแบบกูรูสายฟุตบอลต่างประเทศขึ้นมาในนาม ชุ ฮ็อตชอต ที่ไม่พลาดที่จะพรีวิวฟุตบอลคู่สำคัญ ประตูสวย ๆ หรือสถิติเจ๋ง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละสัปดาห์ 

เขาสะสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ และคอนเน็กชั่นก็ช่วยให้เขาได้งานเสริมเพิ่ม เช่น การเป็นนักข่าว PR ให้กับทีม ชัยนาท ฮอร์นบิล

แต่ก็อย่างที่ (คนอาชีพนี้) รู้กัน การเป็นนักข่าวนั้นไส้หดไส้แห้ง เงินเดือนไม่ได้มากมายอย่างที่คนภายนอกเข้าใจ 

เขาจึงขวนขวายที่จะขยับตำแหน่งจาก นักข่าว ไปเป็น ผู้ประกาศ เพื่อเงินที่สูงขึ้น แต่ก็นั่นแหละ … การแข่งขันที่เข้มข้นของสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ทำให้บรรดาบอร์ดที่คัดเลือกคนเข้าทำงานต่างก็มองที่ความดึงดูดและรูปลักษณ์ภายนอกเป็นสำคัญ 

“กูสัมภาษณ์มาหลายที่มาก แต่เขาบอกว่าเพอร์ฟอร์แมนซ์หน้าจอกูดูไม่เหมาะ”

 

ถอดใจไปเป็นนักร้อง

และก็เป็นไปตามนั้น เมื่อเส้นทางการเป็นนักข่าวกีฬาในยุคที่การแข่งขันสูงปรี๊ด ทำให้เขาเหนื่อยและไม่ได้รับค่าตอบแทนเท่าที่ควรจะได้ ในขณะที่ค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ก็สวนทางกับคุณภาพชีวิต 

เขาตัดสินใจกลับไปหางานทำที่บางแสน ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่เขาเรียนจบมา คล้ายกับว่าที่นั่นเป็นคอมฟอร์ตโซนก็ว่าได้ 

ชุติเดชตั้งใจ ใช้ชีวิตใหม่อีกครั้ง เขากับเพื่อน ๆ ตั้งวงดนตรี ทำเพลง และร้องเพลงตามร้านอาหารที่บางแสน ส่วนเวลาว่างในช่วงกลางวันก็รับงานเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์และแปลข่าวให้เพจฟุตบอลไปด้วย

แม้คนนอกจะมองว่า เฮ้ยเจ๋ง ! ก็อิสระดีนี่ แต่หากคุณเป็นเสาหลักของครอบครัว คุณก็คงต้องการอาชีพที่มั่นคง ที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่ามันคืออาชีพหลักจริง ๆ 

แน่นอนว่าเขายังไม่ถอดใจ ในขณะที่ทำเพลง ร้องเพลงตามร้านอาหาร และรับเขียนข่าว ก็สอดส่ายสายตาหางานใหม่ไปด้วย

จนกระทั่ง…

 

ฝันที่ไม่กล้าฝันและไม่เคยฝันแต่ได้ทำจริง !

วันหนึ่ง เพจของสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เปิดรับสมัคร Content Producer เขาจึงตัดสินใจส่งโปรไฟล์ไปให้ดู เพราะก็ตามดู แมนฯ ซิตี้ และทุกทีมในพรีเมียร์ลีกมาพอสมควร

“ตอนนั้นภาษาอังกฤษยังไม่ได้ คนสมัครไปก็น่าจะเยอะ แต่สุดท้ายผมต้องทำ Test กับสัมภาษณ์อีกหลายรอบ กระบวนการทุกอย่างคือใช้เวลาเกือบ 1 ปี จากวันนั้นก็ได้เข้าไปทำงานกับสโมสรทั้งสิ้น 4 ปี ผมรับรู้เลยว่าทำไมสโมสรแห่งนี้เวลามีนักเตะมาค้าแข้งกับทีมแล้วถึงไม่ค่อยอยากไปไหน หรือก็ยังเชียร์ทีมต่อแม้ในวันที่เขาอำลาทีมไป ที่นี่ผมได้พบสิ่งที่เปลี่ยนชีวิต ทั้งเรื่องระบบการทำงานและการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ของตัวเอง โอกาสครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต” 

จากคนที่ไม่ได้ภาษาอังกฤษ ทำอย่างไรให้ได้งานอันล้ำค่านี้มา ? ก็แค่พยายาม … เขาพยายามเหมือนทุกครั้ง เริ่มเขียนคำศัพท์ใส่กระดาษติดฝาผนังห้องนอน ท่อง ฝึกเขียนเป็นประโยค และฝึกออกเสียงทุกวัน เวลามีนัดสัมภาษณ์ก็กล้าที่จะขอให้กรรมการพูดช้า ๆ อ่านปากเพื่อเข้าใจบริบทและเรียบเรียงคำตอบในหัวได้ถูกต้อง อาจจะไม่ได้ถูกแกรมม่า แต่ก็พอสื่อสารได้ นั่นเป็นเรื่องที่เขาภูมิใจมากที่สุด 

ชุติเดชเล่าว่า เขาใช้เวลา 5 ปีในการสร้างตัวเองขึ้นมา เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานกับทีมงานของสโมสรแมนฯ ซิตี้ จนกระทั่งเปิดเพจของตัวเองในนาม ชุ แมนฯ ซิ แต่ก็ใช่ว่ามีเพจแล้วคุณจะดังเปรี้ยงปร้าง หรือเรียกตัวเองว่าอินฟลูเอนเซอร์ได้เต็มปากในทันที

“ทำเพจแมนฯ ซิตี้ มันโดดเดี่ยวมาก 555 เพราะสัดส่วนแฟนบอลแมนฯ ซิตี้ ในบ้านเราน้อยกว่าทีมหลักอื่น ๆ ด้วย” 

“ความจริงตั้งแต่ก่อตั้งเพจแห่งนี้ขึ้นมาช่วงที่ผมทำงานอยู่กับสโมสร จุดประสงค์ของผมคือไว้ใช้ประชาสัมพันธ์ และเชื่อมต่อกับแฟน ๆ ได้ง่ายขึ้นเวลาที่สโมสรมีกิจกรรมอะไรต่าง ๆ เป็นอีกหนึ่งศูนย์รวมที่ทำให้กลุ่มแฟนบอลแมนฯ ซิตี้ ได้รับการมองเห็นมากขึ้น อีกทั้งพวกแนวทางหรือนโยบายที่จะทำโพสต์ต่าง ๆ ในเพจ ทุกวันนี้ผมก็ยังยึดตามฟอร์มเหมือนที่เคยทำงานกับทีมก็คือ ทำแต่ข่าวทีมตัวเอง อาจมี Entertainment หรือเรื่องราวนอกสนามบ้าง ตอนที่ทำงานกับสโมสร หัวหน้าผมมี Motto ไว้ว่า ‘Keep humble and be honest (จงถ่อมตัวและซื่อสัตย์)’ ซึ่งยังคงติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้” 

 

การทำคอนเทนต์สไตล์ ชุ แมนฯ ซิ

คุณอาจจะเห็นได้ว่ายอดไลก์ยอดแชร์ของเพจ ชุ แมนฯ ซิ อาจจะไม่ได้หวือหวาแบบยอดพุ่งสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะเขามีหลักการในตัวเอง นั่นคือไม่พาดพิงทีมอื่นหรือกระทบกระทั่งเพื่อเรียกยอดไลก์ และที่สำคัญคือ 

“แค่ข้อมูลจากทีมตัวเอง วัน ๆ หนึ่งก็แทบจะอัปเดตไม่หมดอยู่แล้วครับ” 

เพจ ชุ แมนฯ ซิ จึงไม่ใช่เพจอัปเดตคอนเทนต์เรื่อยเปื่อยแบบไม่มีเป้าหมายหรือเนื้อหาสาระ ซึ่งเอาเข้าจริงอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการที่เขาพยายามยืนหยัดบนคำว่าเพจคุณภาพด้วยซ้ำ เพราะนิสัยใจคอของเขาก็เป็นคนที่ชอบอยู่ในที่สงบ ๆ และถ่อมตัว ซึ่งมันก็อาจจะมาจากนิสัยใจคอของเขานั่นแหละ 

ปัจจุบัน เพจ ชุ แมนฯ ซิ หรือ Chu ManCity มียอดผู้ติดตาม 73,000 คน อาจจะไม่ได้มากมายนัก แต่ที่ไม่น่าเชื่อคือ เขาทำและดูแลมันกับน้องสาวแท้ ๆ เพียงสองคนเท่านั้น เพราะคิดว่า #แอดจูน น้องสาวจะถ่ายทอดเนื้อหาออกมาได้ใกล้เคียงกับความต้องการของเขามากที่สุด 

เมื่อถามว่าอะไรคือความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตการทำงานเป็นนักข่าวสายฟุตบอลมาร่วม 10 ปี แน่นอนสิ่งที่เขาตอบเป็นอย่างแรกคือ

การได้ไปอังกฤษ ได้ไปดูฟุตบอล ได้ไปเจอคนทำงานสายข่าวเหมือนกัน ได้ท้าทายศักยภาพตัวเองด้วยการใช้ชีวิตคนเดียวที่นั่น 

และชุติเดชยังบอกอีกว่า ใครที่มีความฝันเหมือนกับเขาแล้วไม่กล้าเริ่มต้น จำไว้เพียงว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรเพอร์เฟ็กต์

แม้แต่ แมนฯ ซิตี้ สโมสรที่คนภายนอกมองว่าสมบูรณ์แบบนักหนาก็ยังมีช่วงสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกและล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้าง

ดังนั้นหากในวันนี้มีคนถามเขาอีกครั้งว่า ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นนักข่าวหรืออินฟลูเอนเซอร์ ?

เขาคงตอบไปว่า “ไม่รู้สิ” แล้วตามด้วยวลีเด็ดตบท้ายว่า ชีวิตมันก็แค่ “กล้า” ก่อนแล้วค่อยเก่ง ไม่ลองดูแล้วจะรู้ได้ไงว่าทำได้ ถูกไหมล่ะ …



Source link

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *