เอริก เทน ฮาก เหลือเวลาและโอกาสอีกแค่ไหนในโอลด์แทรฟฟอร์ด?
“0-3”
ตัวเลขบนสกอร์บอร์ดเหมือนเดจาวู เช่นกันกับบรรยากาศความหม่นหมอง เสียงโห่ที่ดังลั่น และเก้าอี้ที่ว่างเปล่าภายในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ด
ผู้ชมทนดูการแสดงที่เลวร้ายของเหล่านักแสดงชุดสีแดงบนเวทีที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘โรงละครแห่งความฝัน’ อีกไม่ไหว
เล่นแพ้เขาไม่ว่า เล่นสู้ไม่ได้พอรับไหว แต่เล่นไม่มีใจไม่มีอะไรเลยแบบนี้มันเกินไป
ภาพความทุ่มเทของนักเตะนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด การเล่นสอดประสานที่ลงตัวอันมาจากการพร่ำสอนของคนที่มีหน้าที่อย่าง เอ็ดดี ฮาว เป็นภาพในเงาสะท้อนที่แตกต่างจากภาพของนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดที่เล่นกันแบบไม่มีขวัญและกำลังใจ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร
ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันนี้ยังเชื่อใจนายใหญ่อย่าง เอริก เทน ฮาก อยู่หรือไม่
และนี่คือคำถามสำคัญที่สุดสำหรับผู้จัดการทีมชาวดัตช์ในตอนนี้
เขาเหลือเวลาและโอกาสอีกกี่มากน้อยที่จะกอบกู้แมนฯ ยูไนเต็ดให้กลับมา?
“ผมเป็นนักสู้ ผมมองเรื่องนี้เป็นความท้าทาย”
นายใหญ่แห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดยืนยันเป็นมั่นเหมาะหลังจบเกมที่แชมป์เก่าต้องหมดสิทธิ์ป้องกันตำแหน่งตั้งแต่รอบที่ 4 ด้วยฝีมือของรองแชมป์เก่าที่พวกเขาเคยเอาชนะมาได้ในเกมที่เวมบลีย์ด้วย ‘คลาส’ หรือชั้นเชิงทางฟุตบอลที่เหนือกว่า เด็ดขาดกว่า
แต่ความท้าทายของเขามันไม่ง่ายเลย
หลังความพ่ายแพ้ต่อแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คู่ปรับร่วมเมืองแบบหมดรูปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การโดนนิวคาสเซิลบุกมาถล่มที่โอลด์แทรฟฟอร์ดด้วยสกอร์เดิม 3-0 ทำให้มองเห็นภาพของปัญหาภายในทีมแมนฯ ยูไนเต็ดได้เด่นชัดขึ้น
นี่เป็นความพ่ายแพ้นัดที่ 8 ในฤดูกาลนี้ จากจำนวนการลงสนามแค่ 15 นัด
แพ้เกินกว่าครึ่ง!
นับเฉพาะการเล่นในบ้าน จากที่เคยแพ้แค่นัดเดียวในฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกที่ดีสำหรับเทน ฮากและแมนฯ ยูไนเต็ด ในฤดูกาลนี้แมนฯ ยูไนเต็ดแพ้ในบ้านไปแล้วถึง 5 จาก 10 นัดที่ลงเล่นในโอลด์แทรฟฟอร์ด
เรียกว่าแพ้ครึ่งหนึ่ง
สถิติที่เลวร้ายยังร่ายยาวได้ต่อ นี่เป็นครั้งแรกที่พวกเขาแพ้ในบ้านติดต่อกันด้วยสกอร์ 3 ประตูหรือมากกว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1962 – ในยุคการก่อร่างสร้างตัวใหม่หลังจากเหตุโศกนาฏกรรมที่มิวนิกในปี 1959
และการแพ้ในบ้าน 5 จาก 10 นัดแรก เป็นผลงานที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ฤดูกาล 1930/31 หรือเกือบ 100 ปีที่แล้ว
“ผมเข้าใจว่าเวลาที่ผลการแข่งขันมันไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นพวกเขาก็จะตั้งคำถาม” เทน ฮากกล่าว “แต่ผมมั่นใจว่าผมทำได้ ในเวลานี้เราอยู่ในจุดที่เลวร้ายและผมเป็นคนที่รับผิดชอบเอง”
มีจุดที่น่าสนใจคือแมนฯ ยูไนเต็ด ในช่วงก่อนที่จะพบกับนิวคาสเซิล ในนัดชิงชนะเลิศลีกคัพที่เวมบลีย์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้น พวกเขาแพ้เพียงแค่ 6 จาก 40 นัด
แต่หลังจากที่ได้แชมป์ลีกคัพ ซึ่งเป็นแชมป์แรกของสโมสรนับตั้งแต่ปี 2016 แมนฯ ยูไนเต็ด ลงสนาม 36 นัด แพ้ไปแล้วถึง 13 นัด หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนการเล่นทั้งหมด
ตามสิ่งที่ควรจะเป็นแล้วการได้แชมป์มันควรเป็นการจุดประกายพาทีมก้าวไปข้างหน้ามากกว่าที่จะฉุดกระชากพาทีมถอยหลังกลับมาอยู่ในจุดเดิมเหมือนในช่วงเวลาที่เลวร้ายในช่วงปลายของ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์, โชเซ มูรินโญ หรือแม้แต่ ราล์ฟ รังนิก ผู้รับหน้าที่ขัดตาทัพ
ไม่นับเรื่องที่เทน ฮากสั่งเสริมทีมด้วยผู้เล่นที่สร้างความตื่นเต้นในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา
กระชาก เมสัน เมาท์ ตัดหน้าลิเวอร์พูล, ราสมุส ฮอยลุนด์ ศูนย์หน้าหมายเลข 9 แห่งอนาคต, อังเดร โอนานา ผู้รักษาประตูที่ใช้เท้าเปิดเกมได้ดีกว่าดาบิด เด เคอา
ไปจนถึง โซฟียาน อัมราบัต กองกลางห้องเครื่องที่จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ และนักเตะที่ถูกยืมตัวมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่าง จอนนี อีแวนส์ ที่กลับมาบ้านเก่าอีกครั้ง รวมถึง เซร์คิโอ เรกีลอน แบ็กซ้ายจอมบุก ทั้งสองคนมาเพื่อเสริมแนวรับที่มีปัญหาอาการบาดเจ็บรบกวนต่อเนื่องทั้ง ราฟาเอล วาราน, ลิซานโดร มาร์ติเนซ และคนสำคัญอย่าง ลุค ชอว์
มีข้อมูลระบุว่า 3 รอบตลาดการซื้อขายผู้เล่นที่ผ่านมานับตั้งแต่ฤดูร้อน 2022, ฤดูหนาว 2023 และฤดูร้อน 2023 ยอดใช้จ่ายของแมนฯ ยูไนเต็ดสูงถึง 411 ล้านปอนด์
ทีมชุดนี้คือทีมของเทน ฮากอย่างไม่ต้องสงสัย แต่แล้วทำไมผลงานมันจึงออกมาอีหรอบนี้
เรื่องนี้มีการตั้งประเด็นคำถามหลายอย่าง เอาเฉพาะแค่เรื่องในสนามก่อน
- การวางโครงสร้างทีม สไตล์ และระบบการเล่น
- การซื้อผู้เล่น
- ความสัมพันธ์ระหว่างนักฟุตบอลและผู้จัดการทีม
- ทัศนคติของนักฟุตบอล
ข้อแรกเป็นเรื่องที่สร้างความประหลาดใจให้กับหลายคน เพราะเอริก เทน ฮากมาพร้อมกับชื่อเสียงในการสร้างทีมฟุตบอลที่เล่นในรูปแบบสมัยใหม่ มีผลงานประจักษ์ชัด พิสูจน์ได้มากับทีมอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม
แต่หลังจบเกมที่แพ้แมนฯ ซิตี้ เขากลับทำให้ทุกคนที่ได้ยินคำพูดต้องกุมขมับว่าเขาทำให้แมนฯ ยูไนเต็ด เล่นฟุตบอลในแบบเดียวกับอาแจ็กซ์ไม่ได้
“แล้วจะจ้างมาทำมะเขืออะไร?” อาจเป็นความในใจของแฟนบอลปีศาจแดงหลายคนที่ได้ยินแบบนี้
เพราะทุกคนคาดหวังว่าเทน ฮากจะสามารถสร้างแมนฯ ยูไนเต็ด ให้เป็นทีมฟุตบอลที่ดี เล่นในระบบทันสมัยเหมือนใครเขา ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่ดีให้เห็นหลายทีม เช่น มิเกล อาร์เตตา กับอาร์เซนอล,โรแบร์โต เด แซร์บี กับไบรท์ตัน, แอนจ์ ปอสเตโคกลู กับสเปอร์ส
หรือแม้แต่ แกรี โอนีล กับวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส บอลก็ยังมีทรง
คำถามคือแล้วแมนฯ ยูไนเต็ดภายใต้เทน ฮาก มี ‘ลายเซ็น’ ในการเล่นแบบไหนกันแน่?
แต่ในขณะที่เทน ฮากบอกว่าเขาไม่สามารถทำทีมเล่นแบบเดียวกับทีมเก่าได้ ในทางปฏิบัติกลับทำในสิ่งตรงข้าม เพราะมีลูกทีมเก่าหรือนักเตะในเครือข่ายสายสัมพันธ์อาแจ็กซ์ถูกซื้อตัวมาร่วมทีมหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ลิซานโดร มาร์ติเนซ, คริสเตียน อีริกเซน, แอนโทนี และล่าสุดคืออังเดร โอนานา
ในจำนวนนี้มีเพียงแค่มาร์ติเนซและอีริกเซนที่พอจะรอดตัวจากการตำหนิได้ แต่รายแรกเริ่มประสบปัญหาอาการบาดเจ็บต่อเนื่อง ขณะที่รายหลังสังขารร่วงโรยลงมาอย่างเห็นได้ชัดจนทำให้ชั้นเชิงในการเล่นอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้ทีมรอดตัวได้
คาเซมิโรเป็นอีกคนที่เริ่มถูกวิจารณ์หนักทั้งๆ ที่แทบจะเป็นคนแบกทีมในฤดูกาลที่แล้ว เพราะผลงานในฤดูกาลนี้ดรอปลงอย่างน่าใจหาย แทบไม่เหลือเค้าของมิดฟิลด์ตัวรับที่เก่งที่สุดในโลกอีก แม้จะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะตอนซื้อมาในราคาแพงถึง 70 ล้านปอนด์ก็อายุ 30 ปีแล้ว
ไหนจะ เมสัน เมาท์ ที่ทุ่มเงินถึง 60 ล้านปอนด์พร้อมมอบเสื้อหมายเลขสำคัญอย่าง ‘หมายเลข 7’ ให้ แต่ไม่มีสักเกมที่อดีตกองกลางดาวเด่นของเชลซีจะแสดงให้เห็นว่าเขาสมควรจะได้รับเสื้อหมายเลขเดียวกับ จอร์จ เบสต์, ไบรอัน ร็อบสัน, เอริค คันโตนา, เดวิด เบ็คแฮม หรือคริสเตียโน โรนัลโดเลย
ที่แย่กว่าเมาท์ก็คือแอนโทนี ที่ซื้อมาด้วยราคา 82 ล้านปอนด์หรือ 100 ล้านยูโร แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าดีพอสำหรับเงินที่เสียไป
แอนโทนี และมิเกล อัลไมรอน ความเหมือนที่แตกต่าง
ลองหันไปมองนิวคาสเซิล แม้จะมีเจ้าของทีมที่มีอำนาจทางการเงินมากมายมหาศาล แต่พวกเขาใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาดในการเสริมทัพ ผู้เล่นทุกคนที่ซื้อมาไม่ว่าจะเป็น คีแรน ทริปเปียร์, บรูโน กิมาไรส์, อเล็กซานเดอร์ อิซัค, สเวน บอตแมน, แดน เบิร์น ไปจนถึงแอนโธนี กอร์ดอน และลูอิส ฮอลล์ ที่ออกสตาร์ทเป็นตัวจริงในเกมเมื่อคืนนี้ ต่างเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและมีแผนการใช้งานที่ชัดเจน
ไม่นับการพัฒนานักเตะที่มีอยู่เดิมอย่างโชลินตัน, มิเกล อัลมิรอน และอีกหลายคนที่เอ็ดดี ฮาว ยกระดับจนกลายเป็นนักเตะแถวหน้า และทีมก็พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเก่งจริง และดีขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีปัญหามากมายตั้งแต่อาการบาดเจ็บของผู้เล่น ไปจนถึงตัวหลักที่ซื้อมาใหม่อย่างซานโดร โตนาลี จะมีคดีติดการพนันจนโดนแบน 10 เดือนก็ยังไม่ส่งผลกระทบต่อผลงานในสนาม
แต่ความล้มเหลวที่น่ากลัวที่สุด และถูกมองว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แมนฯ ยูไนเต็ดมีปัญหาตอนนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างนักฟุตบอลในทีมกับผู้จัดการทีม
พูดง่ายๆ คือ “นักเตะไม่เอาโค้ช”
เชย์ กิฟเวน อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติไอร์แลนด์และนิวคาสเซิล มองเรื่องนี้ว่า “มันให้ความรู้สึกว่ามีความแตกแยกกันระหว่างผู้เล่นและผู้จัดการทีม
“มันดูคล้ายว่าจะมีรอยร้าวระหว่างกันเกิดขึ้นหลังฉาก”
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับแมนฯ ยูไนเต็ด มันเกิดขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสันวางมือ ยอดโค้ชที่กวาดแชมป์มาแล้วมากมายอย่างหลุยส์ ฟาน กัล และโชเซ มูรินโญ ก็เอาตัวไม่รอด ไม่ต้องพูดถึง The Chosen One อย่างเดวิด มอยส์ ที่บรมกุนซือชาวสกอตแลนด์ขอฝากไว้แต่กลับโดนเอาไปฝัง
หรือตำนานที่กลับมาช่วยทีมอย่างโอเล กุนนาร์ โซลชา
ความจริงเทน ฮากเหมือนจะพยายามกำจัด ‘เนื้อร้าย’ ออกไป ตั้งแต่ พอล ป็อกบา, เจสซี ลินการ์ด ที่ถูกมองว่าเป็น ‘หนอนบ่อนไส้’ ไปจนถึงนักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่อย่างคริสเตียโน โรนัลโด ที่กลับคืนรังเก่าเหมือนกษัตริย์คืนบัลลังก์ แต่ฉากสุดท้ายต้องระเห็จออกทางประตูหลังของสโมสร
แต่ดูเหมือนเรื่อง Man Management ของเทน ฮากที่ตึงเกินไปกำลังกลายเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมารัดคอเขาเอง ตั้งแต่กรณีของแฮร์รี แม็กไกวร์ผู้น่าเห็นใจ ไปจนถึงล่าสุดกับเจดอน ซานโช ซึ่งมีการพูดกันหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญ เพราะนักเตะในทีมบางส่วนไม่เห็นด้วยกับมาตรการรุนแรงที่เทน ฮากใช้กับปีกที่เป็นหนึ่งในดาวเด่นที่สุดของยุโรปเมื่อ 3-4 ปีก่อน
ไหนจะคำครหาเรื่องของ ‘ลูกรัก’ ที่มักจะได้โอกาสในการลงสนามก่อนคนอื่น ไม่ว่าจะทำผลงานเป็นอย่างไรก็ตาม
สุดท้ายคือเรื่องทัศนคติของนักฟุตบอลในทีมที่นอกจากจะไม่ดีขึ้นยังเหมือนจะยิ่งแย่ลง
ผลงานการลงสนามของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ยิ่งเล่นยิ่งถอดใจ ยิ่งเล่นยิ่งไม่สู้ ยิ่งเล่นยิ่งเละเทะ
อย่าถามหาผู้นำในสนาม เพราะคนที่สวมปลอกแขนกัปตันทีมก็ไม่ได้มีความเป็นผู้นำที่ดี
แกรี เนวิลล์ ตำนาน Class of ’92 ตำหนินักเตะในทีมว่า “นักเตะของแมนฯ ยูไนเต็ด เอาแต่ฟ้องผู้ตัดสิน หงุดหงิด แต่ในเวลาเดียวกันนิวคาสเซิลก็เดินหน้าทำเกมบุกต่อ
“ผมไม่รู้แล้วว่าเขาจะจัดทีมอย่างไรต่อไป ในเมื่อไม่มีใครที่ดูแล้วสมควรจะได้ลงสนามเลยสักคน” ซึ่งในเกมที่แพ้นิวคาสเซิล มีการเปลี่ยนแปลงนักเตะถึงครึ่งทีมด้วยกันจากเกมที่แพ้แมนฯ ซิตี้ นั่นแปลว่าจะเป็นใครลงมาก็เหมือนเดิม
ไหนจะมีเรื่องที่นักเตะบ่นเรื่องชุดแข่งที่ adidas ออกแบบตามสไตล์สมัยใหม่ว่า “คับเกินไป” ไม่ใช่คับแค่เสื้อหรือกางเกง แม้แต่ถุงเท้าก็คับแน่นไปหมดจนทำให้เล่นลำบาก
ถ้าข่าวนี้เป็นเรื่องจริง การที่ต้องโทษมาถึงถุงเท้ามันกำลังสะท้อนให้เห็นว่านักเตะเหล่านี้มีปัญหาเรื่องทัศนคติในแบบที่ “โทษทุกอย่างยกเว้นตัวเอง” หรือไม่?
จริงอยู่ที่เรื่องของ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ มีส่วนอย่างมาก และภายในสโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด เมื่อไร้ผู้มีบารมีอย่างเซอร์อเล็กซ์ ความเลวร้ายทุกอย่างก็ยิ่งก่อตัวและฝังรากลึกมากยิ่งขึ้น
แต่สำหรับกรณีของเทน ฮาก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาเองก็มีส่วนสำคัญและต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปของทีมในเวลานี้
สิ่งที่น่ากังวลใจที่สุดสำหรับแฟนปีศาจแดงคืออะไรรู้ไหม?
- เทน ฮากดูเหมือนจะอยู่ในเขาวงกตหาทางออกไม่เจอ ไม่รู้จะจัดทีมแบบไหน ไม่รู้แล้วว่าทีมเล่นในระบบอะไรถึงจะดีที่สุดเพราะไม่ได้มีการวางโครงสร้างและแนวทางการเล่นที่ชัดเจนมากพอ
- การจะผู้จัดการทีมคนใหม่มาเพื่อสะสาง ก็คิดไม่ออกว่าจะมีใครเหมาะสม
และ 3. ซึ่งสำคัญที่สุด
ในระหว่างที่กระบวนการผ่องถ่ายหุ้นจำนวน 25% ของครอบครัวเกลเซอร์ให้แก่เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเรียบร้อย
ดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้จัดการทีมไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายนักในยามนี้
นั่นหมายถึงความหวังเดียวของแมนฯ ยูไนเต็ดที่จะแก้ไขสถานการณ์ทุกอย่างก็คือตัวของเทน ฮากเองก่อน จนกว่าทุกอย่างในเรื่องการซื้อขายหุ้นจะคลี่คลาย
แล้วทุกอย่างก็จะวนย้อนกลับไปในข้อที่ 1 อีกครั้งหนึ่ง